26 พ.ย. 2551
วันพุธที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
Wednesday 26 November 2008
วันนี้น้องสาวอยากออกจากโรงพยาบาลเพื่อที่จะได้ไปลองพบแพทย์ทางด้านชีวจิต น้องจึงลุกตั้งแต่ตีสี่ เพราะว่าปกติน้องจะเริ่มนอนไม่ได้ และหายใจไม่สะดวกตั้งแต่ตีสาม แต่น้องจะนั่งรอจนเช้า หรือบางครั้งก็หลับๆ ตื่นๆ ตลอด โดยเฉพาะวันที่น้องพักที่โรงพยาบาล หลังจากที่น้องลุกแล้ว น้องหันมาบอกให้เราเตรียมตัวตั้งแต่ตีห้า
เช้านี้แพทย์คีโมเข้ามาประมาณเจ็ดโมงเช้าและบอกให้น้องไปรับการฉายแสงแบบสองมิติอีกครั้ง ซึ่งน้องไม่ได้ปฏิเสธแพทย์คีโม เพียงแต่น้องบอกแพทย์คีโมว่าน้องอยากกลับบ้าน แพทย์คีโมบอกน้องว่าน้องคงกลับบ้านไม่ได้ เหตุผลที่แพทย์คีโมให้คือ น้องจะต้องมีเครื่องออกซิเจนช่วยหายใจที่บ้าน ดังนั้นแพทย์คีโมสรุปว่าน้องไม่ควรกลับบ้าน เราจึงบอกแพทย์คีโมไปว่าน้องมีเครื่องออกซิเจนช่วยหายใจที่บ้านแล้ว แพทย์คีโม ก็เงียบ ไม่ได้ชี้แจงอะไรต่อ
ประมาณเจ็ดโมงกว่าแพทย์ทางไตเข้ามาตรวจเยี่ยมและบอกน้องว่า ที่ไตของน้องไม่ได้มีอะไร ทุกอย่างปกติ ท่านถามว่าน้องยังมีปัสสาวะเป็นเลือดอีกหรือไม่ หลังจากที่เมื่อวานเย็นฉีดยาแล้วปัสสาวะของน้องไม่มีเลือดอีกเลย ท่านก็บอกว่าคงไม่ต้องให้ยาอะไรกับน้องแล้ว
พวกเราจึงแจ้งพยาบาลไปว่าวันนี้น้องอยากออกจากโรงพยาบาลแล้ว ให้พยาบาลช่วยแจ้งแพทย์ทางปอดที่เป็นญาติให้ด้วย ประมาณแปดโมงกว่าแพทย์ทางปอดที่เป็นญาติมาตรวจเยี่ยม ซึ่งแพทย์ทางปอดที่เป็นญาติตรวจเช็คออกซิเจนในเลือด การหายใจของหัวใจและความดันอีกครั้ง ผลออกมาว่าทุกอย่างปกติ ดังนั้นแพทย์ทางปอดที่เป็นญาติจึงอนุญาตให้น้องออกจากโรงพยาบาลได้ แพทย์ทางปอดที่เป็นญาติถามว่าน้องจะออกไปอย่างไร พวกเราเลยบอกไปว่าพวกเราจะเรียกรถโรงพยาบาลไปส่ง เราตามออกไปขอบคุณแพทย์ทางปอดที่เป็นญาติอีกครั้ง และบอกท่านว่าวันนี้เราจะลองไปปรึกษาแพทย์ทางเลือกดูก่อน แพทย์ทางปอดที่เป็นญาติบอกเราว่า ท่านเข้าใจและอยากให้ทำตามที่น้องสาวต้องการทุกอย่าง เราถามท่านว่าถ้าน้องมีน้ำที่ปอดขึ้นมาอีกหล่ะ? ท่านหันมาบอกทันทีว่าให้พาน้องเข้ามาได้เลย ถ้ามีอะไรก็ให้มาหาเลย
เนื่องจากพวกเราตั้งใจแค่จะไปปรึกษาแพทย์ชีวจิต พวกเราจึงไม่ได้นำของใช้ส่วนตัวไปเลย และฝากของทุกอย่างให้คุณน้าช่วยนำกลับบ้านให้หมด พวกเราเดินทางล่วงหน้าไปก่อน เพราะคุณน้าจะต้องเคลียร์ค่าโรงพยาบาลก่อน เมื่อรถโรงพยาบาลส่งพวกเราถึงโรงพยาบาลย่านพระรามสองเรียบร้อย พยาบาลแจ้งเพียงแต่ว่าถ้าแพทย์ชื่อดังว่างแล้ว จะบอกให้มาพบน้อง แต่ยังไงให้น้องพบแพทย์คนอื่นไปก่อน ซึ่งขณะที่พวกเราเดินเข้าไปถึงแผนกนั้น พวกเราก็เห็นแพทย์ชื่อดังท่านนั้นนั่งอ่านหนังสือพิมพ์อยู่
พยาบาลให้พวกเราไปรออยู่ที่ห้องหนึ่ง รออยู่พักใหญ่ แพทย์ทางชีวจิตท่านหนึ่งเข้ามาหาน้องก่อน และท่านอธิบายว่าที่โรงพยาบาลนี้จะแตกต่างจากโรงพยาบาล ในด้านอาหาร การให้วิตามินเสริม และการฝังเข็ม ซึ่งฟังๆ ดูก็น่าสนใจดี แพทย์ทางชีวจิตบอกว่าให้น้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลนี้ด้วยเลย และท่านเรียกเราและน้องชายออกไปคุยรายละเอียดที่ห้องของท่าน
เมื่อไปถึงห้องตรวจของท่าน ท่านบอกทันทีว่าน้องไม่มีทางหาย วิธีการรักษาที่นี่เริ่มจากการให้วิตามินก่อน ซึ่งจะเริ่มให้ตั้งแต่วันนี้ เพื่อที่ช่วยต้านมะเร็งและจะให้วิตามินซีใส่ทางเส้นเลือด แต่ก่อนการเริ่มคอร์สทางชีวจิตนั้น แพทย์ทางชีวจิตจะให้แพทย์แผนปกติ เช่น แพทย์ทางด้านหัวใจและปอด ให้มาตรวจเช็คน้องก่อน
พวกเรากลับไปที่ห้องที่น้องสาวและคุณแม่รอเราอยู่ น้องสาวรีบถามไถ่ถึงเรื่องที่ไปคุยกับแพทย์ทางชีวจิตมาว่าเป็นอย่างไรบ้าง พวกเราจึงบอกเล่าให้น้องฟังว่าคอร์สจะเริ่มวันนี้ แต่จะต้องมีแพทย์แผนปกติมาตรวจให้พร้อมและจะเริ่มกันอย่างจริงจัง สักครู่ใหญ่พยาบาลเข้ามาแจ้งว่าพยาบาลจะพาน้องเข้าห้องพักฟื้นเพื่อพักผ่อนก่อน และอีกสักครู่จะมีแพทย์แผนปัจจุบันเข้าไปตรวจ
น้องรู้สึกดีใจมากๆ ระยะหลังๆ มักจะมีคนถามน้องคำถามหนึ่งที่ทำให้น้องมาตั้งคำถามให้ตัวน้องเอง คำถามที่มีคนมาถามน้องนั่นก็คือ “น้องเคยถามแพทย์คีโมหรือไม่ว่า ถ้าน้องรับการรักษาแบบแผนปัจจุบัน ไม่ว่าจะคีโมหรือฉายแสง ในกรณีของน้องนั้นจะมีเปอร์เซ็นต์หายกี่เปอร์เซ็นต์” และคนที่ถามยังบอกน้องต่อด้วยว่า เราควรจะรู้ เพราะนี่เป็นสิทธิของคนไข้ และถ้าน้องรู้เปอร์เซ็นต์ น้องจะได้ตัดสินใจถูก โดยคร่าวๆ จากข้อมูลที่น้องทราบมาจากสถิตินั้น น้องมีทางหายจากการรักษาแผนปัจจุบันเพียงแค่ห้าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ระหว่างที่อยู่ที่ห้องตรวจ ตั้งแต่น้องสาวรู้ว่าน้องไม่ต้องคีโมหรือฉายแสงอีกแล้ว พวกเราพูดคุยกันอย่างสนุกสนาน น้องสาวมีอาการปกติทุกอย่างด้วยสีหน้าที่สดชื่นมากๆ และระหว่างย้ายเข้าไปที่ห้องพักในโรงพยาบาล เมื่อพวกเราไปถึง น้องเข้าไปนั่งพักที่เตียงคนไข้โดยที่ฟังพวกเราพูดถึงส่วนต่างๆ ของห้อง เพราะว่าพวกเราไม่เคยมาที่โรงพยาบาลนี้มาก่อน ระหว่างที่ทุกคนกำลังเดินสำรวจอยู่ เรารู้สึกน้องดูเหนื่อยๆ เราจึงเอาที่วัดออกมาวัดออกซิเจนในเลือดและวัดการเต้นของหัวใจของน้อง ซึ่งปกติเราจะวัดกันอยู่เป็นระยะๆอยู่แล้ว
เหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นแบบกะทันหัน เพราะเมื่อเราวัดการเต้นหัวใจของน้องนั้นสูงถึง 187 ออกซิเจนในเลือด 88 ซึ่งโดยปกติการเต้นหัวใจของน้องประมาณ 120 กว่า ไม่ถึง 130 ส่วนออกซิเจนของน้องไม่เคยต่ำกว่า 90 จาก 100 และก่อนหน้านี้ เมื่อครั้งที่พยาบาลที่โรงพยาบาลเอกชนย่านพญาไทตกใจที่การเต้นหัวใจของน้องสูงเกินไป และรีบส่งน้องเข้าไปห้องฉุกเฉินคือ 133 ส่วนออกซิเจนคือ 89
เมื่อทุกคนเห็นตัวเลขออกซิเจนในเลือดและการเต้นของหัวใจก็ตกใจมาก ลองดูตัวเลขว่าจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ซึ่งเผอิญผู้ช่วยพยาบาลเข้ามาให้น้องเปลี่ยนเสื้อผ้า เราจึงรีบบอกผู้ช่วยพยาบาลเกี่ยวกับตัวเลขของการเต้นหัวใจของน้องสูงเกินไปถึง 187 ซึ่งเราขอให้เขาตามแพทย์มาด่วน ผู้ช่วยพยาบาลไม่ฟังที่เราพูดและยังคงบอกว่าให้น้องเปลี่ยนชุดก่อน เราจึงต้องย้ำว่าให้ช่วยตามแพทย์มาด่วน สักครู่ผู้ช่วยพยาบาลออกไปที่วอร์ดและกลับมาบอกว่าแจ้งพยาบาลให้เรียบร้อยแล้ว
ช่วงนาทีวิกฤตนั้น พวกเราต่างก็ตกใจมาก รอสักครู่ใหญ่มีแพทย์คนหนึ่งเดินเข้ามา และบอกเพียงว่าให้พยาบาลย้ายน้องลงไปที่ห้อง ICU และน้องจะต้องอยู่ที่ห้อง ICU ตลอด โดยที่แพทย์ให้เหตุผลว่าน้องต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เราถามแพทย์ไปว่าทำไมไม่ให้น้องใช้เครื่องที่ห้องพักฟื้น ทำไมจะต้องลงไปอยู่ห้อง ICU เพราะน้องไม่อยากที่จะอยู่คนเดียวที่ห้อง ICU แน่นอน แพทย์ท่านก็บอกเพียงแต่ว่า เครื่องช่วยหายใจที่ห้อง ICU ดีกว่าที่ห้องนี้ มันสามารถปรับแต่งอะไรได้มากกว่า เราก็เลยถามไปว่า แล้วเอาเครื่องที่ว่าขึ้นมาที่ห้องได้หรือเปล่า? ซึ่งแพทย์ก็บอกเพียงแต่ว่า ไม่ได้ เพราะว่าพยาบาลที่ใช้เครื่องช่วยหายใจอย่างชำนาญที่โรงพยาบาลแห่งนี้ มีแต่ที่พยาบาลที่ห้อง ICU เท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น ตั้งแต่ตอนที่แพทย์เข้ามา เราพยายามจะบอกว่าค่าออกซิเจนในเลือด กับจังหวะเต้นของหัวใจของน้องสูงกว่าปกติ ซึ่งเราก็ชี้ไปที่เครื่องวัดที่กำลังวัดอยู่ที่นิ้วของน้อง แต่ท่านก็มองแล้วก็ทำท่าไม่เข้าใจ มุ่งเน้นแต่จะพูดเรื่องการหายใจ ขณะที่พวกเรากำลังคุยกับแพทย์อยู่นั้น มีแพทย์อีกท่านหนึ่งเดินเข้ามาที่ห้องน้อง ท่านบอกว่าเป็นแพทย์ทางหัวใจ แพทย์ถามความเป็นมาของน้องแบบคร่าวๆ และทางเราก็รีบแจ้งท่านให้ดูที่นิ้วของน้อง เกี่ยวกับการวัดค่าออกซิเจนในเลือด กับจังหวะการเต้นของหัวใจ เมื่อท่านมองไป ท่านก็พูดอะไรสักอย่าง และก็เป็นจังหว่ะเดียวกับแพทย์ท่านแรก (ซึ่งมารู้ภายหลังว่าเป็นแพทย์ทางด้านปอด)ตะโกนออกมาว่า "อ๋อ" ประมาณว่า เขารู้แล้วว่า ค่าที่พวกเราพยายามบอกเขาเมื่อกี้คืออะไร ต่างกับแพทย์ทางหัวใจ ที่ได้ยินปั๊บ เขาพยักหน้ารับเข้าใจทันที ทางเราบอกไปว่าน้องเป็นมะเร็งปอดที่ลุกลาม และน้องเคยผ่านการทำ Pericardial Window (ผ่าเยื่อหุ้มหัวใจ)
เพียงแพทย์ทางหัวใจที่โรงพยาบาลแห่งนี้ได้ยินคำว่า Pericardial Window ท่านบอกว่ายังไงก็ต้องย้ายน้องลงไปที่ห้อง ICU เดี๋ยวนี้ และทำการฉีดยาที่ชื่อว่า Adenosine ซึ่งยาตัวนี้จะทำให้หัวใจของน้องหยุดเต้นลงอย่างฉับพลัน แล้วจึงค่อยๆเริ่มเต้นขึ้นอีกครั้งหนึ่ง (Heart Break) เหมือนว่าเป็นการรีเซทคอมพิวเตอร์ อย่างไรก็ตามญาติคนไข้ต้องเซ็นรับสภาพ เพราะว่าการฉีดยาชนิดนี้ มีประมาณหนึ่งเปอร์เซ็นต์ที่หัวใจจะไม่กลับขึ้นมาเต้นอีกเลย ดังนั้นญาติต้องยอมรับว่าถ้าหัวใจคนไข้ไม่กลับมาเต้นอีก แพทย์ไม่มีความผิดใดๆ ทั้งสิ้น และหลังจากที่ฉีดประมาณ 6 มิลลิกรัมเสร็จแล้ว รออีกสักพัก ถ้าไม่ฟื้นขึ้น จะทำการปั้มหัวใจเพื่อเรียกน้องกลับมา
หลังจากที่ได้ยินที่แพทย์ทางหัวใจบอกกล่าว และพยายามบอกว่า ให้รีบเซ็นยินยอม ไม่งั้นอาจจะทำการรักษาไม่ทัน เราจึงรีบโทรเข้าไปหาแพทย์ทางปอดที่เป็นญาติเพื่อปรึกษาเรื่องนี้ทันที แต่เผอิญว่าแพทย์ทางปอดที่เป็นญาติตรวจคนไข้อยู่ ซึ่งเจ้าหน้าที่แจ้งว่า แพทย์จะโทรกลับหาเรา ระหว่างนั้นที่โรงพยาบาลแห่งนี้ ก็มีการย้ายน้องลงห้อง ICU อย่างเร่งด่วน ระหว่างนั้นเราจึงรีบหาทางติดต่อแพทย์คนอื่น เพียงสักครู่เดียวแพทย์ทางปอดที่เป็นญาติโทรกลับมา เราจึงรีบเล่าเหตุการณ์ทั้งหมดให้แพทย์ทางปอดที่เป็นญาติฟัง และขอคำแนะนำจากแพทย์ทางปอดที่เป็นญาติเกี่ยวกับยา Adenosine แต่แพทย์ทางปอดที่เป็นญาติถามแบบไม่เข้าใจว่าทำไมการเต้นของหัวใจของน้องถึงผิดปกติมากขนาดนั้น เพราะตอนที่แพทย์ทางปอดตรวจเช็คก่อนให้ออกจากโรงพยาบาล การเต้นของหัวใจก็ยังปกติอยู่ เพียงแค่ประมาณสองชั่วโมงถัดมา ทำไมน้องเปลี่ยนแปลงจนผิดปกติ
แพทย์ทางปอดที่เป็นญาติแนะนำว่าอย่าเพิ่งให้ฉีดยาให้น้องทันที น้องควรจะรอสิบห้านาทีหรือสามสิบนาที ถ้าไม่ดีขึ้น ให้ฉีดยาชนิดนี้ได้ หรือถ้าแย่ลงให้รีบตัดสินใจ แต่คนที่ฉีดยานี้จะต้องเป็นแพทย์ทางหัวใจเท่านั้น หลังจากที่ทราบข้อมูลทั้งหมด เราจึงรีบบอกแพทย์ว่าขอรอดูก่อนสักสิบห้านาที พวกเรารีบเข้าไปดูอาการน้อง เพื่อสังเกตุการณ์ไม่ให้แย่ลง ถ้าแย่ลงต้องรีบตัดสินใจจะได้ทันการณ์ ระหว่างนั้นพยาบาลที่ห้อง ICU เตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ในการฉีดยาและการปั้มหัวใจ
ผ่านมาสิบห้านาทีน้องไม่ดีขึ้น เราจึงตัดสินใจหันไปเซ็นเอกสาร เมื่ออ่านรายละเอียดแล้ว เราจึงถามพยาบาลว่าทำไมที่แพทย์บอกไว้ คือ ให้ฉีดเพียง 6 มิลลิกรัมเท่านั้น ที่เอกสารให้เซ็นนั้นเป็นใบอนุญาตฉีดถึงสามครั้ง ครั้งที่หนึ่งฉีด 6 มิลลิกรัม ครั้งที่สองฉีด 6 มิลลิกรัม และครั้งที่สามฉีด 10 มิลลิกรัม เมื่อเห็นเอกสารดังนั้นเราจึงบอกพยาบาลว่า เราอนุญาตให้ฉีดเพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น พยาบาลบอกให้เราเซ็นลงไปที่ข้างๆ ที่เขียนระบุไว้ว่าการฉีดครั้งแรก เราจึงเซ็นพร้อมกับโยงเส้นปากกาลงไปเพื่อความแน่ชัดอีกครั้ง พยาบาลจึงตามแพทย์ทางหัวใจให้กลับมาที่ห้อง ICU อีกครั้ง และเมื่อแพทย์ฉีดเข็มแรกเรียบร้อย เรารีบเข้าไปดูน้อง ซึ่งน้องดูดีขึ้นมาแล้ว
พยาบาลขอให้พวกเราไปรอด้านนอกเพื่อจัดความเรียบร้อยของน้อง เพราะเราขอให้พาน้องกลับขึ้นห้อง ทุกๆ คนจึงเดินออกจากภายในห้อง ICU ของน้อง เราถามแพทย์ทางหัวใจว่า ท่านจะหาสาเหตุว่าทำไมน้องถึงมีอาการเช่นนี้ขึ้นมาหรือไม่ และจะรักษาอย่างไร แพทย์ทางหัวใจหันมาตอบแบบมั่นใจว่า “ผมไม่หาสาเหตุหรอก ก็รู้ๆ กันอยู่แล้วว่า น้องคุณน่ะเป็นมะเร็งปอดลามไปหลายจุดแล้ว ทุกอย่างก็เป็นเพราะมะเร็ง” เราจึงถามแพทย์ทางหัวใจต่อเกี่ยวกับน้องว่า แพทย์ทางหัวใจน่าจะหาสาเหตุเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกบ่อยๆ แพทย์ทางหัวใจก็บอกว่า “ผมว่าไม่ต้อง” เราจึงถามแพทย์ทางหัวใจว่า “และการรักษาจะทำอย่างไรต่อ” แพทย์ทางหัวใจบอกเพียงว่า “ถ้ามีอาการขึ้นมาอีก ก็ให้ฉีดยาชนิดนี้ไปเรื่อยๆ” พวกเราจึงเดินออกมาเพื่อจะปรึกษากัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาพอดีกับที่แพทย์ทางเลือกคนแรกที่เข้ามาคุยกับน้องมาที่ห้อง ICU เราเห็นแพทย์ทางเลือกเข้าไปคุยกับแพทย์ทางหัวใจและเดินออกมา เราจึงถามแพทย์ทางเลือกว่า แพทย์จะหาสาเหตุของอาการของน้องหรือไม่ แพทย์ทางเลือกพูดเสียงดังฟังชัดจนเรากลัวว่าน้องจะได้ยินออกมาว่า “ผมว่าผมคงไม่หาสาเหตุเพราะว่าขนาดญาติคุณที่เป็นแพทย์เหมือนกันยังบอกให้ปล่อยให้น้องคุณไปเลยดีกว่า” คำพูดนี้เป็นคำพูดที่แรงมากๆ เราเลยถามว่าแพทย์ไปเอาความคิดนี้มาจากไหน แพทย์ทางเลือกหันมาบอกเราว่า ได้ยินจากแพทย์ทางหัวใจ เขาบอกว่า “ไม่ต้องฉีดยาช่วยน้อง ให้ปล่อยไปเลย” เราไม่อยากจะเถียงกับแพทย์ แต่ในใจเริ่มลังเลกับโรงพยาบาลแห่งนี้แล้ว แพทย์ทางเลือกยังเสริมต่อว่า ทางเลือกคงยังไม่เริ่มจนกว่าทางแผนปัจจุบันจะยืนยันว่าให้น้องเริ่มแผนทางเลือกได้ เราจึงเดินกลับไปดูน้องที่ห้อง และรออยู่ประมาณครึ่งชั่วโมง เราจึงถามพยาบาลว่าให้น้องรอที่ห้องนี้ทำไม พยาบาลแจ้งว่ารอหาห้องให้คนไข้เข้าไปพักฟื้น เราจึงบอกไปว่าน้องมีห้องพักฟื้นอยู่แล้ว ถ้าที่ห้อง ICU เรียบร้อยก็ให้ย้ายขึ้นไปได้เลย
รออีกประมาณสิบห้านาที ซึ่งระหว่างนั้นคุณแม่และน้องสาวอีกคนได้กลับขึ้นไปที่ห้องพักฟื้นก่อน เพราะว่าพวกเราตกใจ น้องจึงทิ้งกระเป๋าเงินไว้ที่ข้างบน แต่เพราะว่าพวกเราไม่ได้ตั้งใจที่จะเข้าพักฟื้นที่โรงพยาบาลแห่งนี้แต่แรก พวกเราจึงไม่ได้จัดกระเป๋าค้างคืนที่ใช้จากที่โรงพยาบาลอีกแห่งมาด้วย พวกเราฝากให้นำกลับบ้านไป น้องชายที่ขึ้นไปที่ห้องพักฟื้นโทรลงมาบอกว่า พยาบาลแจ้งมาว่ามีห้องดีกว่าว่างแล้ว น้องชายจึงบอกให้เราย้ายขึ้นห้องใหม่ได้เลย เราจึงต้องไปแจ้งพยาบาลที่ห้อง ICU ให้แทน
ก่อนที่น้องจะย้ายขึ้นมาที่ห้องพักฟื้น พยาบาลที่ ICU ติดเครื่องวัดการเต้นหัวใจและออกซิเจนไว้ที่ตัวน้อง และมีเครื่องติดไว้ที่ตัวน้องเพื่อตรวจเช็คเอง และยังส่งสัญญาณไปที่ห้อง ICU โดยที่ห้อง ICU จะมีพยาบาลคอยดูให้ด้วย ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้น ทางห้อง ICU จะแจ้งมาที่พยาบาลประจำชั้น ให้เข้ามาดูแล ซึ่งก็ดูไฮเทคดีเหมือนกัน เมื่อย้ายขึ้นมาที่ห้องใหม่น้องก็ดูปกติทุกอย่างเพียงแต่เหนื่อย และน้องเล่าเหตุการณ์การทำงานของยา Adenosine ให้พวกเราฟังว่าน้องเป็นอย่างไรบ้าง ความทรมานของการที่อยู่ๆหัวใจก็หยุดเต้นไปเลย แล้วก็ค่อยๆกลับมาเต้นอีกครั้ง น้องกลัวและเหนื่อยมากกับยาตัวนี้
น้องชายและคุณแม่จะกลับไปจัดกระเป๋าให้พวกเรา โดยที่คุณแม่พูดแหย่น้องเล่นๆ ว่า แพทย์ทางปอดที่เป็นญาติฝากบอกว่า ถ้าจะย้ายกลับไปที่โรงพยาบาลเอกชนที่ย่านพญาไทในวันนี้เลยก็ได้นะ น้องยิ้มให้คุณแม่และไม่ได้พูดอะไร น้องพักได้สักครู่หนึ่ง แต่น้องไม่สามารถลงมาเดินเองเหมือนอย่างที่ทำได้เหมือนเมื่อเช้านี้อีกต่อไปแล้ว น้องบอกให้ขอรถเพื่อไว้ใช้เข็นน้องไปเข้าห้องน้ำ ซึ่งพวกเราไม่แน่ใจว่านี่เป็นผลข้างเคียงจากการฉีดยาตัวนี้หรือไม่
ถึงเวลาทานอาหารเย็นน้องไม่มีเรี่ยวแรง เราจึงป้อนอาหารให้น้องและชวนแบบแหย่น้องเล่นๆ ให้น้องย้ายกลับไปที่โรงพยาบาลเอกชนย่านพญาไทที่แพทย์ทางปอดที่เป็นญาติตรวจอยู่ น้องหันมาบอกเราแบบยิ้มๆ ว่าอย่าเพิ่งคิดอคติกับที่นี่ ให้ลองอยู่ดูก่อนว่าอยู่ได้หรือไม่ ซึ่งเรื่องอาหารทางชีวจิตนั้น ไม่ได้เคร่งครัดเหมือนแพทย์ทางเลือกอื่นที่เราเคยไปหามา เพราะชีวจิตยังสามารถทานปลาและกุ้งได้ แต่ที่พวกเราเคยไปปรึกษามานั้นเคร่งครัดในเรื่องอาหารมากๆ
ช่วงเย็นน้องขอนอนพัก ซึ่งผิดปกติจากที่เคยเป็น เพื่อนๆ และญาติๆ ต่างก็มาเยี่ยมเยียนน้องเหมือนเดิม ถึงแม้ว่าพวกเราจะย้ายออกมาอยู่นอกเมืองแล้วก็ตาม แต่อยู่กันไม่นานนักจึงแยกย้ายกันกลับ โดยที่คุณแม่และน้องๆ ต่างก็รอให้เราอาบน้ำเพื่อมาดูแลน้องก่อน หลังจากที่ทุกคนกลับกันไปแล้ว เรานั่งจัดเตรียมของที่จะต้องใช้พรุ่งนี้เช้า ซึ่งได้เข้านอนประมาณเกือบตีหนึ่ง เราได้ลากโซฟามาอยู่ข้างๆ เตียงน้องหรือห่างเพียงแค่หนึ่งเมตรเท่านั้น
ปิดตาไปได้ประมาณครึ่งชั่วโมง เห็นเงาตะคุ่มๆ หลายๆ คนมาที่เตียงน้อง เมื่อเปิดตามาเห็นพยาบาลสามสี่คนมาช่วยกันลากน้องออกจากเตียง เรารีบลุกขึ้นมาถามว่าพยาบาลจะพาน้องไปไหนกัน เพราะการที่จะพาคนไข้ไปแบบนี้น่าจะบอกญาติบ้าง พยาบาลต่างก็บอกเพียงว่าพยาบาลจะพาน้องไปห้อง ICU กัน เพราะว่าที่ห้อง ICU แจ้งมาที่วอร์ดว่าให้พาน้องกลับลงไป เราเลยถามพยาบาลไปว่าทำไมไม่ต้องบอกญาติก่อนหรือ พยาบาลต่างก็เงียบไม่ได้พูดอะไรต่อ น้องขอเข้าห้องน้ำก่อน น้องอาจจะมีลางสังหรณ์เลยขอให้พาไปห้องน้ำ เราเลยจัดการให้น้อง ก่อนลงไปที่ห้อง ICU เราหันไปปลุกน้องสาวอีกคนให้ตื่นและให้น้องสาววิ่งตามลงไปที่ห้อง ICU ที่เมื่อกลางวันนี้ไปมา แต่ให้ล็อคให้เรียบร้อยก่อนและค่อยวิ่งตามลงไป โดยที่เราไปกับพยาบาลที่พาน้องไปห้อง ICU เมื่อออกมาจากห้องพักฟื้นของน้อง มองไปเห็นพยาบาลแต่ละคนทำให้เราแปลกใจ พยาบาลแต่ละคนที่มาพาน้องไปเหมือนว่าเพิ่งตื่นนอนกัน
เมื่อไปถึงห้อง ICU ก็ต้องแปลกใจอีกครั้ง พยาบาลที่ห้อง ICU ที่โรงพยาบาลแห่งนี้ต่างก็เพิ่งตื่นนอนเดินเข้ามารับน้องกัน เรื่องน่าประหลาดใจไม่จบเพียงแค่นั้น เมื่อเราถามว่าพาน้องลงมาทำอะไร รักษาอย่างไร พยาบาลบอกเพียงว่าให้รอแพทย์ก่อน เมื่อเวลาผ่านไปสักประมาณห้านาที เราเห็นผู้ชายคนหนึ่งแต่งตัวเหมือนแพทย์ผ่าตัดที่ใส่ชุดสีเขียวมาคุยอยู่ที่หน้าห้องของน้อง แต่แพทย์ดูเหมือนเพิ่งตื่นนอนเช่นเดียวกัน เราเดินออกไปถามแพทย์ว่าจะรักษาน้องอย่างไร แพทย์ไม่ได้ตอบอะไร อีกเพียงครู่เดียวเราเข้ามาอยู่ในห้องกับน้อง เห็นพยาบาลฉีดยาเข็มหนึ่งให้น้อง โดยที่แพทย์ไม่ได้เป็นคนฉีดเอง อีกเพียงครู่เดียวพยาบาลนำยาเม็ดหนึ่งมาให้น้องทาน ซึ่งหลังฉีดยาน้องมีอาการเหมือนเมื่อตอนกลางวัน หลังจากนั้นเราถามทั้งแพทย์และพยาบาลว่าฉีดยาอะไรให้น้อง เมื่อเราแสดงสีหน้าไม่พอใจออกมา พยาบาลหันมาตอบเพียงว่า ยาที่ฉีดเป็นยาตัวเดียวกับเมื่อตอนกลางวัน ซึ่งก็คือ Adenosine ที่ฉีดไปก่อนหน้านี้แล้วเมื่อประมาณก่อนเที่ยง และเข็มที่สองนี้ ฉีดประมาณตีสอง
เรากลับมาอยู่ที่ในห้องของน้องที่ ICU โดยนั่งที่โซฟาตรงข้ามเตียงของน้องสาว เพื่อเฝ้าดูอาการน้องอย่างใกล้ชิด เพราะเริ่มเป็นห่วงในการรักษาที่นี่ เราให้น้องอีกคนหลับไปก่อน น้องเลยนั่งหลับไปแบบนั้น เรานั่งเฝ้าน้องทั้งคืนโดยที่คืนนั้นเราส่งข้อความให้น้องชายอีกสองคนช่วยตัดสินใจ เพราะว่าเราเริ่มไม่เห็นด้วยกับการรักษาแบบนี้แล้ว คือ การฉีดยาให้หัวใจหยุดไปเรื่อยๆ ดูเหมือนจะยิ่งแย่ลงเรื่อยๆ เพราะน้องสาวเหนื่อยมากๆ และในวันเดียวกันกับที่น้องสาวย้ายมาที่โรงพยาบาลนี้ คุณพ่อของพวกเราต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนย่านพระราม 6 เนื่องจากอาการป่วยของน้องสาวไม่ดีขึ้น คุณพ่อเครียดมากมานานเป็นระยะเวลาหลายเดือนจนสุขภาพไม่ดีและทรุดลงไป พวกเราทราบกันดีเกี่ยวกับเรื่องนี้ ตั้งแต่น้องเริ่มเข้าห้อง ICU เมื่อตอนกลางวัน สถานการณ์เช่นนี้ พวกเราตกลงกันว่า พวกเราจะไม่บอกเรื่องน้องที่เข้าห้อง ICU ให้คุณพ่อทราบ ในขณะเดียวกัน พวกเราก็จะไม่บอกน้อง ว่าคุณพ่อเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล เพื่อไม่ให้ทั้งสองคนต้องเครียดเพิ่มขึ้นไปอีก
เกร็ดความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ Adenosine
ยาที่ทำให้หัวใจคนฉีดเต้นแรง!![1]Adenosine เป็นยาอีกตัวหนึ่งที่มีความจำเพาะตัวค่อนข้างสูง ประเภทมาเร็วต้องไล่ไปให้เร็วเพราะครึ่งชีวิตของยา (half life) สั้นมากเหลือเกินในร่างกายคน การฉีดยาตัวนี้จึงต้องเน้นเป็นพิเศษว่าต้องเร็ว เร็วมาก และผลที่ได้ก็ทันใจ อยู่ไม่นาน คนไข้หลายคนเล่าว่า รู้สึกเหมือนตกตึกสูง, ลงรถไฟเหาะ, เหมือนหล่นลงมาแล้วมีใครปิดไฟ (มันมืด) หวิว ๆ ถ้าดูจากจอ monitor จะเห็นเป็น asystole เป็นช่วงสั้นๆ ได้เลย จนพยาบาลและแพทย์บางคนรู้สึกเสียว ไม่กล้าใช้ แต่อย่างไรก็ตาม ยานี้ก็เป็นยาตัวแรกที่แนะนำให้ใช้ในภาวะ Stable Narrow complex Regular tachycardia เช่น Supraventricular tachycardia (SVT) ด้วยความที่ออกฤทธิ์เร็ว และสั้น การเฝ้าระวังหลังฉีดแทบไม่ต้องกังวล จึงเหมาะกับการใช้ที่ห้องฉุกเฉินเป็นอย่างยิ่ง มีคำแนะนำในการฉีด ดังนี้
1. เปิด IV ใกล้ ๆ heart เช่นบริเวณข้อพับแขน
2. เตรียมต่อ 3-way ซึ่งใช้ syringe 20 ml ที่ใส่ saline ไว้คอย flush ตามยาที่ฉีดอย่างรวดเร็ว
3. ยกแขนข้างนั้นขึ้นสูง
4. ติด monitor EKG
5. ผู้ฉีดหายใจเข้าลึก ๆ ทำใจให้สงบ (ไม่ต้องครับ แซวเล่น) เริ่มต้นฉีดครั้งแรกที่ 6 mg (1 vial) ถ้าไม่ตอบสนอง เพิ่มยา เป็น 12 mg (2 vial) หากไม่ตอบสนองอีกให้ขนาด 12 mg ซ้ำได้อีก 1 ครั้ง
6. กรณีที่ได้ยาแล้วไม่ตอบสนอง ให้ลองทบทวนหาสาเหตุดังนี้ เช่น วิธีการฉีดไม่ถูกต้อง (ฉีดยาหรือ flush saline ตามไม่ เร็วพอ, เปิดเส้นที่แขนส่วนปลาย(ข้อมือ) ทำให้ยาหมดฤทธิ์ ก่อน), วินิจฉัย EKG ผิด เช่น rate regular แต่เป็น Sinus tachycardia (ให้หาสาเหตุและแก้ไขต่อไป), rate irregular เช่น Atrial fibrillation with rapid ventricular response (AF with RVR), Multifocal atrial tachycardia (MAT)[1] ที่มา
แสดงความคิดเห็น