6 เม.ย. 2551


วันอาทิตย์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2551
Sunday 6 April 2008

วันนี้แหละเป็นวันที่สำคัญที่สุด เพราะพี่น้องตัดสินใจที่จะบอกน้องก่อนที่จะพบแพทย์คีโมที่โรงพยาบาลย่านพระรามหก ทุกคนในครอบครัวก็ไปให้กำลังใจกันที่หน้าห้องในระหว่างที่รอพบแพทย์คีโม ณ เวลานั้นน้องชายอีกคนจึงตัดสินใจบอกกับน้องสาวให้รู้ เพราะไม่ว่าอย่างไรก็ตามพวกเราอยากจะเป็นคนบอกน้องเอง มิใช่ให้แพทย์คีโมเป็นคนบอก หลังจากที่น้องสาวรู้ น้องสาวไม่ร้องห่มร้องไห้และไม่ตัดพ้อใดๆ ทั้งสิ้น น้องเป็นคนหนักแน่นมากๆ และก็ได้แต่ถามว่า “แล้วการรักษาของน้องจะเป็นยังไงต่อ” ถึง ณ เวลานั้นต้องยอมรับจริงๆ ว่า น้องเป็นคนที่เข้มแข็งและกำลังใจดีมาก

เมื่อพบกับแพทย์คีโม ท่านเสนอแผนการรักษาให้สองแบบ อย่างชนิดที่หนึ่งคือรับการรักษาแบบเคมีบำบัดหรือคีโม และอย่างที่สองเป็นการรักษาด้วยการรับประทานยา (Target Therapy) ซึ่งถ้าเป็นทางเคมีบำบัดนั้นผลข้างเคียงจะรุนแรงมากกว่าวิธีที่สอง เช่นอาการคลื่นไส้และผมร่วง ผลข้างเคียงของวิธีที่สองนั้นเรียกว่าน้อยมาก เพราะจะมีแค่ขึ้นผื่นบนใบหน้าและขึ้นตามลำตัว แพทย์คีโมอธิบายต่อว่าปกติตามหลักแล้ว จะต้องเลือกการรักษาด้วยวิธีแรก และถ้ายาตอบสนองไม่ดี ก็จะเปลี่ยนไปเป็นวิธีที่สอง ซึ่งแพทย์คีโมยื่นสองทางเลือกให้เรา แต่ทางเรายังไม่ได้ตัดสินใจ แพทย์คีโมก็ตัดสินใจให้เราเสร็จ เนื่องจากทางครอบครัวเรายังไม่ค่อยเข้าใจระบบของทางการแพทย์ดีนัก จึงเข้าใจว่าเราควรจะให้น้องคีโมอย่างเดียว ทางครอบครัวได้สอบถามแพทย์คีโมว่า จะต้องตรวจเพิ่มเติมก่อนการรักษาหรือไม่ เพราะทางครอบครัวเคยได้ยินมาว่า ควรจะทำเพทสแกน (Pet Scan) เพื่อตรวจสอบว่ามีมะเร็งที่ไหนบ้างหรือไม่ แต่แพทย์คีโมยืนยันด้วยคำพูดว่า “ผมว่ามันไม่จำเป็น” หลังจากนั้นแพทย์คีโมจึงให้นัดวันตรวจ MRI, แมมโมแกรม (Mammogram) และเราต้องขอตรวจเพิ่ม Ultrasound ที่มดลูก อย่างไรก็ตามจะต้องรอผลชิ้นเนื้อที่ส่งไปย้อมดูอีกครั้งว่าเป็นมะเร็งปอดประเภทไหนแน่ๆ และอีกทั้งยังไม่สามารถรับยาคีโมตอนนี้ได้ เพราะว่าน้องเพิ่งจะผ่าตัดชิ้นเนื้อไป

น้องชายถามแพทย์คีโมไปว่าจะให้ยาตัวไหน แพทย์คีโมก็บอกน้องชายว่าจะใช้ยา Gemza คู่กับ Cisplatin น้องชายจึงถามแพทย์คีโมว่า แล้วค่อยเติม Avastin ภายหลังได้หรือไม่ แพทย์คีโมบอกว่าตอนนี้คงให้ไม่ได้ เพราะเพิ่งผ่าตัดมาใหม่ๆ ซึ่งน้องชายก็พอทราบข้อมูลเหล่านี้มาจากการค้นหาบนเน็ทดี จึงรับได้กับการที่แพทย์คีโมรับปากว่าเดี๋ยวรอไปอีกสักระยะและจะค่อยเติมลงไปเพิ่ม อาจจะเป็นในครั้งที่สองก็ได้ เพราะน้องได้ข้อมูลมาว่ายา Avastin นั้นจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพยาคีโมประมาณสิบเปอร์เซ็นต์ และพวกเรายังได้ถามแพทย์คีโมเพิ่มเติมว่า น้องรับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งไหนจะดีที่สุดสำหรับน้อง แพทย์คีโมบอกว่าที่โรงพยาบาลเอกชนย่านพระรามหกนี้น่าจะสะดวกที่สุด เพราะว่าเครื่องมือนั้นทันสมัยกว่าโรงพยาบาลย่านพญาไท พวกเราจึงตัดสินใจที่จะให้น้องรับการรักษาที่นี่

น้องสาวนั้นเข้มแข็งมาก จึงมุ่งมั่นที่จะรักษาพร้อมกำลังใจของทุกคนในครอบครัว โดยที่ ณ วันนั้นน้องสาวก็เริ่มตัดสินใจที่จะทานอาหารอย่างเคร่งครัด โดยทานผักซะมาก นับจากวันนี้น้องสาวก็เริ่มไม่ปวดที่ต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณคอแล้ว และไม่ต้องขอยาแก้ปวดอีกต่อไป นอกจากนี้น้องเคยได้ยินว่าปกติคนที่เขาปวดมากๆ จะต้องให้ยาประเภทมอร์ฟีน น้องเลยบอกเราว่าน้องไม่อยากเป็นหนึ่งในนั้น

หลังจากพบแพทย์คีโม วันนั้นพวกเราก็เลยพาน้องไปทานอาหารที่น้องชอบกัน ณ เวลานั้นพวกเราทุกคนยังมีความหวังกันว่า “น้องจะหายดี” พวกเรายังมีคุยกันว่า สิ้นปีนี้น้องหายดี พวกเราจะไปฉลองกันที่ญี่ปุ่นเหมือนที่พวกเราเคยไปด้วยกัน ครอบครัวเราหวังเพียงให้ทุกอย่างดีขึ้น

ตกเย็นวันนั้นเพื่อนๆ บางคนในกลุ่มของน้องเริ่มจะทราบเรื่อง ก็แห่กันมาที่บ้านนั่งคุยกับน้อง ต่างก็ให้กำลังใจน้อง ซึ่งเพื่อนๆ ของน้องก็เป็นแรงใจที่สำคัญของน้อง ถึงเวลานี้ต้องเรียกว่า น้องก็โชคดีที่มีเพื่อนแท้เยอะมากๆ

Quote:

PET scan คือ ภาพแสดงหน้าที่ของอวัยวะต่างๆ ที่สร้างขึ้นโดยการใช้สารเภสัชรังสีจับกับเนื้อเยื่อของอวัยวะที่ต้องการตรวจสามารถบอกถึงการไหลเวียนโลหิต หน้าที่ของเนื้อเยื่อรีเซพเตอร์ (receptor) เมตาบอลิสมและการสังเคราะห์สารชีวโมเลกุล ซึ่งแตกต่างจากภาพ MRI หรือ CT scan ที่แสดงภาพโครงสร้างทางกายภาพของอวัยวะเป็นหลัก หลักการของ PET scan คือการนำสารชีวโมเลกุลต่างๆ ที่ร่างกายใช้มาจับกับสารรังสีที่ผลิตจากเครื่องไซโครตรอน เกิดเป็นสารเภสัชรังสี (tracer) ที่มีระยะเวลากึ่งอายุสั้น เมื่อเข้าสู่ร่างกาย (โดยมากด้วยการฉีดเข้าทางเส้นเลือดดำ) ก็จะไหลเวียนไปตามกระแสโลหิตและจับกับเนื้อเยื่อของอวัยวะที่ต้องใช้สารนั้น เมื่อนำผู้ป่วยไปสแกนด้วย PET/CT scan ก็จะเห็นเป็นภาพที่บอกหน้าที่ต่างๆ ของอวัยวะนั้นๆ ว่าผิดปกติหรือไม่

ด้วยการพลิกแพลงสารเภสัชรังสีที่ใช้ PET scan จะสามารถตรวจหาหน้าที่ความผิดปกติ หรือเมตาบอลิสมของร่างกายได้อย่างกว้างขวาง จึงมีประโยชน์สำหรับตรวจโรคมากมายหลายชนิด อาทิ มะเร็ง โรคทางสมอง โรคหัวใจ หรือแม้แต่โรคทางจิตเวช

ที่มา

Quote:

แมมโมแกรม(Mammogram)คือ การถ่ายเอกซเรย์เต้านมทั้ง 2 ข้าง ตามปกติจะทำ 2 ท่า คือถ่ายเต้านมด้านตรง (Craniocaudal view- CC) และแนวเอียง (Mediolateral oblique-MLO)

ที่มา

แสดงความคิดเห็น

Filtered HTML

  • To post pieces of code, surround them with <code>...</code> tags. For PHP code, you can use <?php ... ?>, which will also colour it based on syntax.
  • Web page addresses and e-mail addresses turn into links automatically.
  • You may quote other posts using [quote] tags.
  • Allowed HTML tags: <a> <em> <strong> <cite> <blockquote> <code> <ul> <ol> <li> <dl> <dt> <dd>
  • Lines and paragraphs break automatically.

Comment Input

  • Web page addresses and e-mail addresses turn into links automatically.
  • Allowed HTML tags: <a> <em> <strong> <cite> <code> <ul> <ol> <li> <dl> <dt> <dd> <p> <img> <center> <font> <u> <br/>
  • Lines and paragraphs break automatically.

Plain text

  • No HTML tags allowed.
  • Web page addresses and e-mail addresses turn into links automatically.
  • Lines and paragraphs break automatically.