“นวัตกรรมเซลล์บำบัด-สเต็มเซลล์” ธุรกิจหลอกคนรวย!? “ฮาร์ท เจเนติกส์” ถอดรหัสยีนพบมะเร็งก่อนระยะที่ 1 (ตอนที่ 1)
รศ.ดร.คล้ายอัปสร พงศ์รพีพร เจ้าของ “ฮาร์ท เจเนติกส์” ผู้คิดค้นนวัตกรรมทางการแพทย์แค่เจาะเลือดตรวจระดับยีนมนุษย์ด้วยการถอดรหัสยีน-DNA ก็สามารถบอกได้ว่าคุณกำลังจะป่วยด้วยโรคร้ายอะไร ที่สำคัญนวัตกรรมนี้ชี้ช่องทางรักษาเพื่อสกัดกั้นการเกิดโรคได้ ล่าสุดเตรียมให้บริการตรวจลึกระดับอาร์เอ็นเอและผลจากที่เป็นหนึ่งเดียวของไทยในระดับโลก ทำให้ทุนธุรกิจใช้ “วิชามาร” จ้องงาบกิจการแห่งนี้
ขณะเดียวกันนวัตกรรมของ “คล้ายอัปสร” กลายเป็นตัวการกระชากหน้ากาก “ธุรกิจหลอกคนรวย” ที่บรรดาโรงพยาบาลเอกชน และศูนย์ความงามต่างๆ ดูดลูกค้าทั้งไทย-เทศ มาใช้บริการอย่างเป็นล่ำเป็นสัน จนทำให้ธุรกิจนี้มีมูลค่านับหมื่นล้านบาท
ดังนั้น “คล้ายอัปสร-ฮาร์ท เจเนติกส์” จึงกลายเป็น “ศัตรูตัวร้าย” ของทุนธุรกิจที่มีทั้ง “มาเฟียตำรวจ-นักการเมือง-นักธุรกิจ-แพทย์” ส่งผลให้คล้ายอัปสรตัองเผชิญสิ่งเลวร้ายที่ไม่น่าเชื่อว่า มนุษย์จะกระทำกันและหลายครั้งเธอก็แทบ “สติแตก'!!
ทีม Special scoop จะนำเสนอเรื่องราวที่เกิดขึ้นในทุกแง่ทุกมุมของฮาร์ท เจเนติกส์ และวงการธุรกิจสุขภาพหลอกคนรวย ที่แม้แต่ “แพทยสภา” ซึ่งรู้ลึกถึงระดับใครคือมาเฟีย แต่ก็ไม่สามารถจัดการกับมนุษย์เสื้อกาวน์กลุ่มนี้ได้ โดยจะนำเสนอทั้งหมด 5 ตอนจบ
รศ.ดร.คล้ายอัปสร พงศ์รพีพร
ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องดีเอ็นเอ นอกจากจะช่วยคลี่คลายคดีความหลายๆ คดี ทั้งเรื่องการตรวจสอบหาญาติหรือใช้สืบหาผู้กระทำผิดแล้ว ในวงการแพทย์ ดีเอ็นเอยังสามารถนำมาใช้ในการตรวจหาสาเหตุของการเกิดโรคต่าง ๆ ได้ค่อนข้างแม่นยำ
กรรมวิธีดังกล่าวเป็นที่แพร่หลายกันในต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา สำหรับประเทศไทยมีแล็บ (LAB) ให้บริการตรวจสุขภาพบริการอยู่ทั่วไป แต่ที่จะให้บริการตรวจสุขภาพถึงระดับพลาสมาดีเอ็นเอ คงมีเพียง Lab ของ Heart Genetics ที่มี รศ.ดร.คล้ายอัปสร พงศ์รพีพร เป็นผู้ดูแล
จากอาจารย์ประจำภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ให้ความสนใจศึกษาวิจัยในเรื่องการถอดรหัสพันธุกรรม ดีเอ็นเอมาเป็นระยะเวลากว่า 30 ปี ประกอบกับญาติพี่น้องของอาจารย์ต่างประสบปัญหาเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ทำให้ รศ.ดร.คล้ายอัปสร มีความสนใจที่จะศึกษาในเรื่องต้นเหตุของการเสียชีวิตอย่างจริงจังในระดับยีนของมนุษย์
ตรวจยีนบอกต้นตอโรค
สำหรับการตรวจหาสาเหตุโรคร้ายในระดับยีน สามารถตรวจจากเลือดและชิ้นเนื้อเพื่อสกัดลงไปในชั้นดีเอ็นเอ เพื่อตรวจสอบการเกิดโรค รวมถึงการใช้ยาและวิธีการที่ตรงกับสาเหตุการเกิดโรค เนื่องจากยีนจะเป็นตัวกำหนดหน้าที่และการทำงานของเซลล์ภายในร่างกาย
ดร.คล้ายอัปสรอธิบายว่า การตรวจในระดับยีนจะทำให้ทราบว่ายีนยังสามารถทำงานได้ปกติหรือไม่ หรือมีปัญหาที่จะก่อให้เกิดโรคในอนาคตหรือไม่ รวมถึงคำนวณระยะเวลาที่จะเกิดโรคได้ ซึ่งนำไปสู่ขั้นตอนในการตรวจให้คำแนะนำและคำปรึกษาก่อนทำการรักษา (Pre-Counselling) เพื่อส่งต่อข้อมูลให้แพทย์ทำการวินิจฉัยแนะนำการป้องกันในกรณีที่มีแนวโน้มที่จะเกิดโรค หรือเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะกับชนิดและสาเหตุของโรคเพื่อทำการรักษาต่อไป
ดังนั้น การตรวจวิเคราะห์ยีนจึงเหนือกว่าการตรวจเลือดของโรงพยาบาลทั่วไป เนื่องจากมีการศึกษาวิจัยในเรื่องการถอดรหัสดีเอ็นเอเป็นระยะเวลากว่า 30 ปี ที่สำคัญคือมีการรวบรวมข้อมูลดีเอ็นเอไว้กว่า 28,000 ราย หรือมี “DNA Bank” มากที่สุดในประเทศ
ในการตรวจเลือดเพื่อเข้าสู่กระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลในการวิเคราะห์หาสาเหตุการเกิดโรคต่างๆ มีขั้นตอนดังนี้ คือ เมื่อเจาะเลือดทำการปั่นเลือด แยกเลือดระหว่างพลาสมาและเม็ดเลือดขาวออกมา โดยเม็ดเลือดขาวจะนำไปตรวจหายีนที่กลายพันธุ์และนำไปสู่โรคร้ายต่างๆ
ขณะที่พลาสมาจะถูกนำไปสกัดดีเอ็นเอเพื่อหาจุดที่เกิดเซลล์มะเร็งในยีนทั้งจากครอบครัวที่มีประวัติการป่วยและที่ไม่มีการป่วย เพราะฉะนั้นความแม่นยำส่วนหนึ่งจะขึ้นอยู่กับครอบครัว การประพฤติปฏิบัติตัว สิ่งแวดล้อมในการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคล และเมื่อนำผลการตรวจไปพิจารณาประกอบกับประวัติครอบครัวก็จะสามารถจำกัดวงและจุดที่จะเกิดโรคได้ รวมถึงการมีฐานข้อมูลในการศึกษาจากต่างประเทศเพื่อนำไปสู่การให้คำแนะนำเพื่อป้องกันตนเองได้อย่างถูกต้อง
ยีนกลายพันธุ์เกิดสารพัดมะเร็ง
ในการตรวจระดับพลาสมาของยีนเพื่อหาต้นตอของโรค ยีนจะเป็นตัวบ่งบอก ซึ่งสามารถกลายพันธุ์ได้ใน 2 ลักษณะคือ 1. Germline Mutation ซึ่งเป็นการกลายพันธุ์ที่ถ่ายทอดทางสายเลือดของบุคคลในครอบครัวซึ่งจะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็งชนิดต่างๆ อันได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งสมอง และมะเร็งเม็ดเลือด
Somatic Mutation เป็นการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นเองภายหลัง และจะถูกกระตุ้นให้เกิดโรคหากอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีหรือสัมผัสสารก่อมะเร็งไม่รู้ตัว เช่น อยู่ใกล้ผู้สูบบุหรี่ สัมผัสสารก่อมะเร็ง โลหะหนัก หรือเชื้อไวรัสบางชนิด ซึ่งมีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งในชนิดที่ใกล้เคียงกับกลุ่มแรกเพียงแต่อาจเกิดโรคในช่วงที่อายุมากขึ้น โดยผู้ที่ประวัติครอบครัวไม่พบผู้ป่วยในโรคร้ายมาก่อนก็จะค่อนข้างมั่นใจในสุขภาพ โดยลืมไปว่าโอกาสที่จะเกิดโรคร้ายมีอยู่เช่นกัน และเมื่อตรวจพบก็สามารถที่จะหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นการเกิดมะเร็ง ลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ และสร้างเสริมสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเกิดโรคและรับมือได้เร็วที่สุด
มะเร็งรู้ก่อนระยะที่ 1
อย่างการตรวจหาเซลล์มะเร็งโดยทั่วไปที่มักตรวจพบในระยะที่ 1-4 ซึ่งหมายความว่าผู้เข้ารับการตรวจต้องตกอยู่ในสถานะผู้ป่วยแล้วไม่ว่าจะอยู่ในขั้นที่ 1-4 ก็ตาม ซึ่งจะเป็นอันตรายเนื่องจากอัตราการขยายตัวของเซลล์เนื้อร้ายจะลุกลามแบ่งตัวขึ้นแบบทวีคูณหากมีการแตกตัวของเซลล์มะเร็งในขั้นที่ 2-4 และนำไปสู่การสูญเสียชีวิตในที่สุด
“เซลล์เพียงเซลล์เดียวหลุดมาในกระแสเลือด ในช่วงก่อนที่จะพบว่าเป็นมะเร็งตรวจเจอค่อนข้างยาก แต่ก็สามารถตรวจได้อย่างแม่นยำ ทำให้เตรียมตัวรักษาได้ ที่สำคัญผู้ที่ไม่เคยมีประวัติการป่วยเป็นมะเร็งก็สามารถตรวจได้ เพราะมีโอกาสเป็นเช่นกัน”
รวมถึงระยะเวลาของการบ่มเพาะและการเติบโตและแสดงอาการของโรคมะเร็งใช้ระยะเวลาที่แตกต่างกัน จึงเป็นเหตุผลว่า ผู้ที่ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีจึงไม่พบว่าตนเองป่วยเป็นโรคมะเร็ง แต่การตรวจวิเคราะห์ในพลาสมาดีเอ็นเอจะค้นหาเซลล์มะเร็งก่อนการป่วยระยะที่ 1 (ระยะที่ 0) หรือเรียกว่า ZeroPlus ได้
1 ใน 4 ของโลก หนึ่งเดียวในอาเซียน
อย่างไรก็ดี การตรวจพลาสมาดีเอ็นเอที่ผ่านมา ทำได้เฉพาะในมหาวิทยาลัยแพทย์ แต่ถ้าเป็นในเชิงพาณิชย์แล้วในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีที่ฮาร์ท เจเนติกส์ เพียงแห่งเดียว และถือเป็น 1 ใน 4 ของโลกที่ให้บริการตรวจสอบในเรื่องนี้
นวัตกรรมใหม่ของฮาร์ท เจเนติกส์ ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐใน 2 หน่วยงาน คือ 1. สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (NIA) หรือ สนช. และ 2. ศูนย์ความเป็นเลิศทางชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (TCELS) จุดสำคัญก็คือ การเจาะเลือดโดยอ้างอิงและตรวจในระดับยีน ซึ่งการตรวจในรูปแบบเฉพาะรายบุคคลนี้ จะช่วยให้การตรวจรักษามีความถูกต้องและเหมาะสมกับผู้เข้ารับการรักษาได้ดีที่สุด
งานของฮาร์ท เจเนติกส์ ยังได้รับรางวัล 10 สุดยอดนวัตกรรมจาก สนช. ในปี 2550 หลังได้รับทุนสนับสนุนให้เป็นผู้วิจัย DNA ตรวจหายีนโรคไม่ติดต่อทั้ง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคอ้วนและโรคมะเร็งได้สำเร็จ ระบุผลงานวิจัยนี้ถือเป็นนวัตกรรมระดับสูงและมีอยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย
ตรวจได้มากกว่ามะเร็ง
ความสำเร็จในการตรวจหาต้นเหตุของโรคในระดับยีนในปี 2546 ทำให้ ดร.คล้ายอัปสร ตัดสินใจนำความรู้ที่มีมาให้บริการในเชิงพาณิชย์ แม้จะต้องล้มลุกคลุกคลานกับการผันตัวมาให้บริการในเชิงพาณิชย์ อันเนื่องมาจากต้นทุนการตรวจรักษาที่สูง รวมถึงเรื่องดังกล่าวยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย จนทำให้ทุกวันนี้แล็บของฮาร์ท เจเนติกส์ ต้องใช้บ้านของ ดร.คล้ายอัปสรเป็นที่ทำการเพื่อลดต้นทุน
“แรกๆ เราให้ความสนใจเกี่ยวกับโรคหัวใจเป็นหลัก เนื่องจากญาติพี่น้องเสียชีวิตด้วยโรคเหล่านี้ แต่ในเมืองไทยโรคมะเร็งเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิต ทำให้เราต้องรับบริการในการตรวจเรื่องโรคมะเร็งด้วยเช่นกัน”
นอกเหนือจากการตรวจมะเร็งแล้ว ยังสามารถตรวจโรคอื่นๆ รวมถึงการตรวจยีนเพื่อค้นหาความเป็นอัจฉริยะของลูกก็สามารถตรวจพบได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการฝึกฝนและพัฒนาอย่างถูกวิธีโดยเฉพาะในช่วงวัยเด็กที่ความเป็นอัจฉริยะสามารถตรวจหา “พรสวรรค์” และครอบครัวสามารถฝึกฝน “พรแสวง” ให้พัฒนาไปพร้อมๆ กันเพื่อสร้างเด็กอัจฉริยะให้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งในช่วงเด็กแรกเกิดสามารถตรวจได้ทันทีจากการเจาะเลือด ซึ่งในช่วงวัย 3-5 ขวบเป็นช่วงของการบ่มเพาะความสามารถของเด็กให้พัฒนาอย่างถูกทางและเหมาะสมที่สุด
รวมถึงปัญหาของเด็กออทิสติก หรือสมาธิสั้น ก็สามารถตรวจพบจากการตรวจยีนเช่นกัน เมื่อผู้ปกครองทราบตั้งแต่ต้นจะสามารถเตรียมการรับมือและปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อดูแลได้อย่างถูกต้องต่อไป แต่สำหรับผู้ป่วยหรือบุคคลทั่วไป ก็สามารถตรวจค้นหาโรคร้ายที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อที่จะวางแผนการใช้ชีวิตประจำวันให้เหมาะสม และวางแผนในชีวิตและการรักษาโรคไว้ล่วงหน้า ก่อนที่โรคร้ายจะลุกลามเกินแก้ไข
นอกจากนี้ยังตรวจหาโรคภัยเมื่อล่วงเข้าสู่วัยชราที่มักพบเจอกันบ่อย อันได้แก่ โรคความจำเสื่อม อัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน ซึ่งโรคเหล่านี้จะสร้างปัญหาในช่วงวัยชราและเมื่อค้นพบแต่เนิ่นๆ ก็จะสามารถดูแลตนเองได้อย่างถูกวิธี ซึ่งวิธีการตรวจในระดับยีนสามารถตรวจค้นโรคได้กว่า 10 โรค ดังนี้
1. มะเร็งทุกชนิด
2. โรคหลอดเลือดหัวใจ-สมอง อุดตันจากคอเลสเตอรอล
3. โรคหัวใจอุดตันกะทันหัน
4. โรคเบาหวาน (เบาหวานเมื่ออายุเยอะและตรวจไม่พบในช่วงแรก)
5. โรคอ้วนจากพันธุกรรม
6. โรคความจำเสื่อม อัลไซเมอร์
7. โรคตับแข็ง
8. โรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
9. สมาธิสั้น ออทิสติก และ
10. ความเป็นอัจฉริยะ
ลึกกว่าตรวจสุขภาพทั่วไป
ดร.คล้ายอัปสรอธิบายถึงความแตกต่างระหว่างการตรวจสุขภาพทั่วไปตามสถานพยาบาลต่างๆ กับการตรวจในระดับยีนว่า จุดที่แตกต่างกันก็คือ การตรวจเลือดโดยทั่วไปสามารถบอกได้เพียงว่าเป็นโรคใด จำนวนกี่โรค รวมถึงสามารถตรวจได้เพียงในรายการที่กำหนดไว้ ที่สำคัญคือ เป็นการตรวจภายหลังที่มีการป่วยหรือเกิดการติดเชื้อหรือขยายตัวของโรคแล้ว
แต่การตรวจเลือดในระดับดีเอ็นเอ นอกจากจะสามารถรู้ว่าป่วยเป็นโรคใดแล้ว ยังสามารถรู้ถึงโอกาสที่จะเจ็บป่วยได้ก่อนที่จะแสดงอาการ รวมถึงยังประเมินระยะเวลาในการเกิดโรค ไปจนถึงสาเหตุของการเกิดโรคต่างๆ รวมถึงระบุจุดที่จะเกิดโรคต่างๆ ได้ โดยเทียบเคียงกับประวัติของครอบครัวและสิ่งแวดล้อมและข้อมูลการวิจัยเพื่อความแม่นยำในการพิจารณาเป็นข้อมูลให้กับแพทย์เพื่อเลือกวิธีการในการรักษาต่อไป
เตรียมให้บริการตรวจอาร์เอ็นเอ
นอกจากการให้บริการตรวจพลาสมาดีเอ็นเอแล้ว ในอีกไม่นานทางฮาร์ท เจเนติกส์จะเปิดให้บริการตรวจพลาสมาอาร์เอ็นเอ ซึ่งเป็นการตรวจในระดับที่ลึกมากขึ้น โดยไมโครอาร์เอ็นเอมีส่วนสำคัญต่อพัฒนาการและควบคุมการทำงานของเซลล์ ในด้านมะเร็งมีทั้งไมโครอาร์เอ็นเอที่ก่อให้เกิดมะเร็งและส่วนที่ต้านมะเร็ง หากส่วนที่ต้านมะเร็งลดลงและมีส่วนที่ก่อให้เกิดมะเร็งเพิ่มขึ้น โอกาสการเป็นมะเร็งย่อมมีสูงขึ้น ไมโครอาร์เอ็นเอจึงเป็นตัวบ่งชี้ในการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งได้ดียิ่งขึ้น
นับเป็นอีกความสำเร็จหนึ่งของวงการวิทยาศาสตร์ที่ยังประโยชน์ต่อวงการแพทย์ ในการตรวจหาต้นตอของโรคที่เหนือกว่าการตรวจทั่วไป เพื่อที่จะหาทางหยุดยั้งโรคร้ายที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ได้ก่อนที่โรคร้ายจะลุกลาม ที่สำคัญการค้นพบนี้เป็นฝีมือของคนไทย
แม้ว่าความสำเร็จของฮาร์ท เจเนติกส์ ที่สามารถตรวจหาต้นตอของโรคต่างๆ ได้ตั้งแต่ในระดับที่อาการของโรคยังไม่แสดง ด้วยความล้ำหน้าในกระบวนการตรวจเทียบเท่าระดับโลก และเป็นหนึ่งเดียวในประเทศไทย ธุรกิจของดร.คล้ายอัปสรจึงเป็นที่ต้องการของทุนธุรกิจด้านสุขภาพรายใหญ่
ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าธุรกิจของฮาร์ท เจเนติกส์ ได้สร้างผลกระเทือนต่อวงการสุขภาพมากมาย ทั้งโรงพยาบาลเอกชน สถาบันการแพทย์ทางเลือก ศูนย์บริการสุขภาพ หรือคลินิกตรวจสุขภาพทั่วไปที่นำนวัตกรรมการบริการรักษาแบบเซลล์บำบัดมาเป็นจุดขาย แต่หลายคนที่เข้าไปใช้บริการ อาจไม่รู้ว่าผลที่ตามมาของนวัตกรรมเหล่านั้นคือการเกิดโรคมะเร็ง ซึ่งฮาร์ท เจเนติกส์ ตรวจพบในระดับยีน
ด้วยเหตุนี้การผันตัวออกมาให้บริการในเชิงพาณิชย์ของ ดร.คล้ายอัปสร จึงเต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย จากเดิมที่มีโรงพยาบาลต่างๆ เคยป้อนลูกค้าให้ก็งดส่ง หรือแม้แต่ทีมทำงานภายในฮาร์ท เจเนติกส์ ก็ถูกซื้อตัวออกไป และยังมีคดีฟ้องร้องต่างๆ ตามมา รวมไปถึงปัญหากับผู้ถือหุ้น
การใช้กลยุทธ์และอำนาจในทางธุรกิจและการใช้คดีความทำให้ฮาร์ท เจเนติกส์ต้องล้มลุกคลุกคลาน ประสบปัญหาในด้านผลการดำเนินงาน ภาระขาดทุน จนต้องแสวงหาวิธีการลดต้นทุนด้วยการลดภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ด้วยการใช้บ้านเป็นสำนักงานแทน
แม้จะแก้ปัญหานี้แล้วก็ตาม แต่กระบวนการไล่ล่าเพื่อหวังครอบครองนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ฮาร์ท เจเนติกส์ค้นพบนี้ยังคงไม่จบสิ้น ติดตามอ่าน ทุนใหญ่! กำจัด “คล้ายอัปสร” พ้นเส้นทางถอดรหัสยีน (ตอนที่ 2)
Manager Online
แสดงความคิดเห็น